วันที่ 22 มิถุนายน ตรงกับวันมรณภาพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พฺรหฺมรํสี หรือเป็นที่รู้จักในนาม สมเด็จโต , หลวงปู่โต หรือ ขรัวโต ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์รูปสำคัญในสมัยรันตโกสินทร์ เมื่อ วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 (วันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก) สิริอายุรวม 84 ปี ซึ่งอยู่ในสมณเพศ 64 พรรษา เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม 20 ปี
หลวงปู่โต เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ตรงกับวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก จุลศักราช 1150) และได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. 2343 ครั้งอายุครบอุปสมบท จึงได้เป็นนาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ใน พ.ศ. 2350 โดยมีสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้ฉายานามว่า “พฺรหฺมรํสี” เนื่องจากได้เปรียญธรรม และถูกเรียกว่า “พระมหาโต” ตั้งแต่นั้นมา
สมเด็จพุฒาจารย์โต กับ บทสวดชินบัญชร
สมเด็จพระพุฒาจารย์โต ได้สวดคาถาชินบัญชรถวายองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ซึ่งมีการสันนิษฐานว่าคำคาถาดั้งเดิมอาจแต่งโดยพระเถระชาวล้านนา และสมเด็จพระพุฒาจารย์โตได้นำมาดัดแปลงเพิ่มเติม จนกลายเป็นบทสวดมนต์ที่นิยมมาจนถึงทุกวันนี้
ความหมายของบทสวดชินบัญชร
คำว่า “ชินบัญชร” แปลว่า กรง หรือ ซี่กรงของพระชินเจ้า โดยคำว่า ชิน หมายถึง ผู้ชนะ ในพระคาถาจึงหมายถึง พระชินเจ้า หรือ พระพุทธเจ้าส่วนคำว่า “บัญชร” หมายถึง กรง ซี่กรง เมื่อรวมกันเป็น ชินบัญชร จึงหมายถึง เกราะเหล็กดุจเพชร ช่วยป้องกันสิ่งชั่วร้าย ศัตรู และเภทภัยต่าง ๆ
อานุภาพพระคาภาชินบัญชร
พระคาถาชินบัญชรมีความศักดิ์สิทธิ์มาก ผู้ที่สวดภาวนาบทชินบัญชรเป็นประจำ จะมีสติและสมาธิสูง เชื่อกันว่าจะมีเกราะป้องกันภัยอันตรายจากภูติผี ปีศาจ และคุณไสยทั้งปวง นอกจากนี้ผู้ที่สวดบทชินบัญชรเสริมสิริมงคลให้กับตัวเอง มีเมตตา มหาเสน่ห์ มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ สำเร็จสมดังใจ
ทำไมจึงมีความเชื่อว่าห้ามสวดคาถาชินบัญชรในป่า
จากความเชื่อที่เล่าต่อ ๆ กันมา เนื่องจากบทสวดชินบัญชรมีอานุภาพมาก หากใครสวดคาถาชินบัญชรในป่า อาจส่งผลพลานุภาพหรือทำร้ายสิ่งมีชีวิตต่างภพ ต่างภูมิ เช่น เจ้าป่า เจ้าเขา ภูติผี ปีศาจ เปรต หรืออสูรกาย ที่อาศัยอยู่ในป่าได้
บทสวดพระคาถาชินบัญชร (พร้อมความหมาย)
การสวดบทพระคาถาชินบัญชร เป็นการอัญเชิญพระพุทธเจ้าทั้ง 28 พระองค์ พระโพธิสัตว์ พระปัจเจก พระอรหันต์สาวก และพระปริต มาสถิต ณ ร่างกายของเรา ซึ่งมีทั้งหมด 15 บทด้วยกัน โดยดั้งเดิมมี 14 บท แต่สมเด็จพุฒาจารย์โตได้แต่งเพิ่มเป็น 15 บท ซึ่งมีเนื้อหาพระคาถา ดังนี้
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุท ธัสสะ (3 จบ)
ปุตตะกาโม ละเภ ปุตตัง ธะนะกาโม ละเภ ธะนัง
อัตถิกาเย กายะ ญายะ เทวานัง ปิยะตัง สุตตะวา
อิติปิโส ภะคะวา ยะมะราชาโน ท้าวเวสสุวัณโณ
มะระณัง สุขัง อะระหัง สุคะโต นะโมพุทธายะ
- ชะยาสะนากะตา พุทธา เชตวามารัง สะวาหะนัง
จะตุสัจจาสะภัง ระสัง เย ปิวิงสุ นะราสะภา.
(พระพุทธเจ้าและพระนราสภาทั้งหลาย ผู้ประทับนั่งแล้วบนชัยบัลลังก์ ทรงพิชิตพระยามาราชาธิราช ผู้พรั้งพร้อมด้วยเสนาราชพาหนะแล้ว เสวยอมตรสคือ อริยะสัจธรรมทั้งสี่ประการ เป็นผู้นำสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นจากกิเลสและกองทุกข์)
- ตัณหังกะราทะโย พุทธา อัฏญะวีสะติ นายะกา
สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง มัตถะเกเต มุนิสสะรา.
(มี 28 พระองค์ คือ พระผู้ทรงพระนามว่า ตัณหังกร เป็นต้น พระพุทธเจ้าผู้จอมมุนีทั้งหมดนั้น)
- สีเสปะติฏฐิโต มัยหัง พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน
สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง อุเร สัพพะคุณากะโร.
(ข้าพระพุทธเจ้าขออัญเชิญมาประดิษฐานเหนือเศียรเกล้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดิษฐานอยู่บนศีรษะ พระธรรมอยู่ที่ดวงตาทั้งสอง พระสงฆ์ผู้เป็นอากรบ่อเกิดแห่งสรรพคุณอยู่ที่อก
- หะทะเย เม อะนุรุทโธ สารีปุตโต จะทักขิเณ
โกณฑัญโญ ปิฏฐิภาคัสมิง โมคคัลลาโน จะ วามะเก.
(พระอนุรุทธะอยู่ที่ใจ พระสารีบุตรอยู่เบื้องขวา พระโมคคัลลาอยู่เบื้องซ้าย พระอัญญาโกณฑัญญะอยู่เบื้องหลัง)
- ทักขะเณ สะวะเน มัยหัง อาสุง อานันทะ ราหุโล
กัสสะโป จะ มะหานาโม อุภาสุง วามะโสตะเก.
(พระอานนท์กับพระราหุลอยู่หูขวา พระกัสสะปะกับพระมหานามะอยู่หูซ้าย)
- เกสันเต ปิฏฐิภาคัสมิง สุริโย วะ ปะภังกะโร
นิสินโน สิริสัมปันโน โสภิโต มุนิปุงคะโว
(มุนีผู้ประเสริฐคือพระโสภิตะผู้สมบูรณ์ด้วยสิริดังพระอาทิตย์ส่องแสง อยู่ที่ทุกเส้นขน ตลอดร่างทั้งข้างหน้าและข้างหลัง)
- กุมาระกัสสโป เถโร มะเหสี จิตตะ วาทะโก
โส มัยหัง วะทะเน นิจจัง ปะติฏฐาสิคุณากะโร.
(พระเถระกุมาระกัสสะปะผู้แสวงบุญทรงคุณอันวิเศษ มีวาทะอันวิจิตรไพเราะอยู่ที่ปากเป็นประจำ)
- ปุณโณ อังคุลิมาโร จะ อุปาลี นันทะ สีวะลี
เถรา ปัญจะ อิเม ชาตา นะลาเต ติละกา มะมะ
(พระปุณณะ พระอังคุลิมาล พระอุบาลี พระนันทะ และพระสีวะลี พระเถระทั้ง 5 นี้ จงปรากฏเกิดเป็นกระแจะจุณเจิมที่หน้าผาก)
- เสสาสีติ มะหะเถรา วิชิตา ชินะสาวะกา
เอเตสีติ มะหาเถรา ชิตะวันโต ชิโนระสา
ชะลันตา สีละเตเชนะ อังคะมังเคสุ สัณฐิตา.
(ส่วนพระอสีติมหาเถระที่เหลือผู้มีชัยและเป็นพระโอรส เป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าผู้ทรงชัย แต่ละองค์ล้วนรุ่งเรืองไพโรจน์ด้วยเดชแห่งศีลให้ดำรงอยู่ทั่วอวัยวะน้อยใหญ่
- ระตะนัง ปุระโต อาสิ ทักขะเณ เมตตะ สุตตะกัง
ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ วาเม อังคุลิมาละกัง.
(พระรัตนสูตรอยู่เบื้องหน้า พระเมตตาสูตรอยู่เบื้องขวา พระอังคุลิมาละปริตรอยู่เบื้องซ้าย พระธชัคคะสูตรอยู่เบื้องหลัง)
- ขันธะโมระปะริตตัญจะ อาฏานาฏิยะ สุตตะกัง
อากาเส ฉะทะนัง อาสิ เสสา ปาการะสัณฐิตา.
(พระขันธปริตร พระโมระปริตร และพระอาฏานาฏิยสูตรเป็นเครื่องกางกั้นดุจหลังคาอยู่บนนภากาศ
- ชินา นานาวะระสังยุตตา สัตตัปปาการะ ลังกะตา
วาตะปิตตาทะสัญชาตา พาหิรัช ฌัตตุปัททะวา.
(อนึ่งพระชินเจ้าทั้งหลาย นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว ผู้ประกอบพร้อมด้วยกำลังนานาชนิด มีศีลาทิคุณอันมั่นคง สัตตะปราการเป็นอาภรณ์ตั้งล้อมเป็นกำแพงคุ้มครองเจ็ดชั้น)
- อะเสสา วินะยัง ยันตุ อะนันตะชินะ เตชะสา
วะสะโต เม สะกิจเจนะ สะทา สัมพุทธะปัญชะเร.
(ด้วยเดชานุภาพแห่งพระอนันตชินเจ้า ไม่ว่าจะทำกิจการใด ๆ เมื่อข้าพระพุทธเจ้าเข้าอาศัยอยู่ในพระบัญชรแวดวงกรงล้อม แห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอโรคอุปัทวะทุกข์ทั้งภายนอกและภายใน อันเกิดแต่โรคร้าย คือ โรคลมและโรคดีเป็นต้น เป็นสมุฏฐานจงกำจัดให้พินาศไปอย่าได้เหลือ)
- ชินะปัญชะระมัชฌัมหิ วิหะรันตัง มะฮี ตะเล
สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพ เต มะหาปุริสาสะภา.
(ขอพระมหาบุรุษผู้ทรงพระคุณอันล้ำเลิศทั้งปวงนั้น จงอภิบาลข้าพระพุทธเจ้า ผู้อยู่ในภาคพื้นท่ามกลางพระชินบัญชร ข้าพระพุทธเจ้าได้รับการคุ้มครองปกปักรักษาภายในเป็นอันดีฉะนี้แล)
- อิจเจวะมันโต สุคุตโต สุรักโข
ชินานุภาเวนะ ชิตุปัททะโว
ธัมมานุภาเวนะ ชิตาริสังโฆ
สังฆานุภาเวนะ ชิตันตะราโย
สัทธัมมานุภาวะปาลิโต จะรามิ ชินะ ปัญขะเรติ.
(ข้าพระพุทธเจ้าได้รับการอภิบาลด้วยคุณานุภาพแห่งสัทธรรม จึงชนะเสียได้ซึ่งอุปัทวอันตรายใด ๆ ด้วยอานุภาพแห่งพระชินพุทธเจ้า ชนะข้าศึกศัตรูด้วยอานุภาพแห่งพระธรรม ชนะอันตรายทั้งปวงด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ ขอข้าพระพุทธเจ้าจงได้ปฏิบัติ และรักษาดำเนินไปโดยสวัสดีเป็นนิจนิรันดรเทอญฯ