ตั้งใจเก็บเงินอย่างดี แต่เดี๋ยวนี้มีปัจจัยคอยล่อตาล่อใจให้หลงติดกับเต็มไปหมด รู้ตัวอีกที ก็ตอนเช็คเงินในบัญชี ทำให้ไม่มีเงินเก็บกับเขาสักที เรามีวิธีเก็บเงินที่คนเก็บเงินเก่ง ๆ เขาทำกันจนได้ผลสำเร็จแล้วมาบอกต่อ เชื่อว่าถ้าคุณทำได้ตามนี้ จะมีเงินเก็บเงินออมอย่างที่ตั้งใจแน่นอนค่ะ
1. กินง่ายอยู่ง่าย
กินง่ายอยู่ง่ายในที่นี้หมายถึง ประหยัดเท่าที่ทำได้ หากทำงานในสถานที่ไม่ไกลบ้านมากนัก ควรอาศัยอยู่กับทางบ้านไปก่อน แต่ถ้าที่ทำงานอยู่ไกลมาก ๆ ก็ควรเลือกห้องพักราคาประหยัด และเลือกห้องพักที่ใกล้ที่ทำงานที่สุด หากใกล้จนสามารถเดินไปทำงานได้ จะยิ่งช่วยประหยัดค่าเดินทางได้อีก หรืออีกกรณีคือ เช่าห้องร่วมกับเพื่อน เพื่อนที่ทำงาน หรือแชร์ห้องร่วมกับญาติ เพราะยิ่งมีคนช่วยหารค่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟ แม้รายจ่ายค่าไฟ ค่าน้ำ อาจสูงขึ้นเพราะใช้กันหลายคน แต่เมื่อมาเฉลี่ยรวมทั้งหมด ก็จะยังประหยัดกว่าจ่ายเพียงคนเดียว เพราะห้องพักเป็นเสมือนที่อาศัยหลับนอนเท่านั้น เพราะเวลาส่วนใหญ่เรามักจะหมดไปกับการทำงาน และยิ่งทำงานหลายแห่ง เพื่อเพิ่มช่องทางของรายได้ ก็จะยิ่งมีเวลาอยู่ห้องน้อยลงไปอีก การแบ่งเวลาที่เหลือไปทำงานพิเศษเสริม จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการมีเงินออมมากขึ้น
ร่างกายคนเราจำกัดปริมาณอาหารที่รับ เรากินได้เพียงเท่าที่อิ่ม ไม่ว่าจะกินอาหารตามสั่ง 1 จาน หรือกินหมูกระทะ ชาบู ก็อิ่มเหมือนกัน และกินได้เท่าที่อิ่มเท่านั้น เพราะหากกินมากไปก็เกิดปัญหา อาหารไม่ย่อย จุก เสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ในเมื่อ 1 มื้อ อาหารราคา 50 บาท กับ อาหารบุฟเฟ่ต์ 199 บาท ก็อิ่มเหมือนกัน ดังนั้น วิธีเก็บเงินแบบจริงจัง คือ ต้องกินง่ายอยู่ง่าย
2. ไม่ฟุ่มเฟือยไปกับของที่ไม่จำเป็น หรือซื้อความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ
ทำงานหนักและเหนื่อยมาทั้งเดือน ก็อยากจะตอบแทนตัวเองด้วยการซื้อความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้าง ข้อนี้เป็นกันแทบทุกคน ทำให้หลาย ๆ คนทำได้ยากสักหน่อย เพราะการดูหนัง ช้อปปิ้ง หรือออกไปสังสรรค์กับเพื่อน เป็นเรื่องปกติที่คนทั่วไปทำกัน เพราะจ่ายครั้งละไม่กี่บาท จึงคิดว่า เอาน่า แค่นี้เอง ถือว่าซื้อว่าความสุขตอบแทนตัวเองบ้าง
แต่…ความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้นี่แหล่ะ ที่หากนำมากองรวมกัน และคำนวณจำนวนเงินที่เสียไป อาจเท่ากับ 50 – 60% ของเงินเดือนในแต่ละเดือนที่เราทำมาทั้งหมด แต่เราจะมองไม่เห็นว่าเราเสียไปเท่าไรจนกว่าจะมานั่งคำนวณอย่างจริงจัง ซึ่งหากปรับทัศคติ เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงิน เป็นการออมเงินแทน ต่อให้เดือนน้อยนิดก็มีเงินเก็บได้ หากใช้ชีวิตแบบพอเพียง
3. ใช้เงินไปเท่าไร เก็บเท่านั้น
จากข้อ 2 นำมาสู่ข้อนี้ โดยให้นำรายจ่ายฟุ่มเฟือยในแต่ละวันมาตั้ง เช่น วันนี้ไปสังสรรค์กับเพื่อน รายจ่ายทั้งหมด คือ 500 บาท ก็ให้แบ่งเงิน 500 บาท สำหรับเป็นส่วนของเงินเก็บ หรือ ซื้อบัตรชมภาพยนต์ 200 บาท ก็เก็บออม 200 บาท เท่ากับเงินที่เสียไป เป็นต้น ซึ่งสามารถใช้วิธีนี้ได้หากไม่สามารถงดกิจกรรมดังกล่าวได้ในแบบข้อ 2 แต่มีอีกวิธีหนึ่งซึ่งเป็นทริคของคนเก็บเงินเก่ง ๆ เขาทำกัน คือ หากต้องการจะไปดูหนัง ค่าบัตรเท่าไร เขาจะเก็บเงินเท่ากับราคาบัตร ทำให้มีแต่ในส่วนของเงินเก็บ โดยไม่มีรายจ่ายออกไป แต่บางคนที่เป็นคนเก็บเงินเก่งมาก ๆ เขาจะใช้วิธีในแบบแรก และแบบที่ 2 รวมกัน คือ หากราคาบัตรชมหนัง 200 บาท เขาจะเก็บเงินส่วนที่ต้องจ่ายค่าตั๋ว 200 บาท และเก็บอีก 200 บาท ทำให้เขาเก็บเงินได้ถึง 400 บาท ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะเก็บเงินเก่งแล้ว ยังต้องห้ามใจเก่งด้วย เรียกได้ว่าเป็นเลเวลขั้นสูงสุดเลยล่ะ
4. เปลี่ยนเงินเป็นของที่มีมูลค่า
หากพูดกันให้เข้าใจง่าย ๆ คือ การนำเงินไปซื้อเป็นสิ่งของสามารถเพิ่มมูลค่าได้ในอนาคต เช่น การซื้อทองคำเก็บไว้ เพื่อขายในช่วงทองคำขึ้นราคา และทองแปลงเป็นเงินสดได้ง่ายเกือบทั่วโลก หรือลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน แล้วปล่อยเช่า ทำให้มีรายได้ต่อเนื่องในแต่ละเดือน การลงทุนธุรกิจ หรือการลงทุนสินค้าแบรนด์เนม เพราะสินค้าแบรนด์เนมส่วนใหญ่มักจะนำไปขายทอดตลาดต่อได้ราคาดี แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดในเวลานั้น ๆ ด้วย เนื่องจากราคาตลาดเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ดังนั้น ควรศึกษาข้อมูลสินค้าแบรนด์เนมให้ดี
5. ความกตัญญูเป็นประตูสู่ความสำเร็จ
ความกตัญญู เป็นวัฒนธรรมและความเชื่อของคนไทยมานาน และยังเห็นได้อยู่ในสังคมปัจจุบัน คนต่างจังหวัดที่มาทำงานในเมืองหลวง ส่วนใหญ่จะมีการส่งเงินกลับไปให้ครอบครัว เพื่อความเป็นอยู่ที่สบายขึ้นของคนที่บ้าน หรือเก็บเงินซื้อบ้านหลังใหม่ ซ่อมแซม ปรับปรุงบ้านให้พ่อแม่ได้อยู่สบายขึ้น แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นความปรารถนาดีต่อบิดามารดา แต่สุดท้ายเราก็สามารถกลับไปอยู่ในบ้านหลังนั้นได้ด้วย และพ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะเก็บออมเงินที่ลูกส่งเงินให้ไว้ส่วนหนึ่งเพื่อให้ลูกได้ใช้ในอนาคต การส่งเงินให้พ่อแม่จึงเหมือนเป็นการออมเงินให้ตัวเองด้วยเช่นกัน และตามหลักความศรัทธาทางพุทธศาสนา “ความกตัญญู นำไปสู่ความสำเร็จเสมอ” ซึ่งข้อนี้เป็นอีกข้อสำคัญของคนเก็บเงินเก่งที่ย้ำว่าขาดไม่ได้เลย