จองเปรียง ลดชุดลอยโคม เป็นพิธีที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ซึ่งปรากฏหลักฐานในประวัติศาสตร์และวรรณกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับ โดยมีต้นแบบมาจาก “ทิวาลี” พิธีบูชาไฟของพราหมณ์ – ฮินดู จากประเทศอินเดีย ก่อนจะพัฒนามาเป็น ลอยกระทง ในสมัยรัตนโกสินทร์
พิธีจองเปรียง เป็นพิธีกรรมที่กษัตริย์ต้องทำเป็นประจำทุกปี โดยประเพณีจองเปรียง ลดชุดลอยโคม ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่ จองเปรียงลดชุด (ทำบนบก) และ ลอยโคมลงน้ำ (นำลงน้ำ) ซึ่งเราจะกล่าวถึงพิธีจองเปรียงลดชุด ดังนี้
1. จองเปรียง คือ โคมไฟที่ได้จากการจุดไฟเผาน้ำมันเนย โดย “จอง” มาจากคำว่า “จง” ของกัมพูชา แปลว่า ผูก หรือ โยง หมายถึง ประคับประคองให้มีแสงสว่าง เลี้ยงไฟไว้ไม่ให้ดับ และ “เปรียง” มาจากภาษาเขมรว่า “เปรฺง” ซึ่งอ่านว่า เปรง แปลว่า น้ำมัน ในที่นี้ จองเปรียง หมายถึง น้ำมันเนยที่ได้จากนมเปรี้ยว ซึ่งทำจากน้ำนมวัว หรือ น้ำนมควาย ผสมกับน้ำ แล้วนำไปเจียวให้แตกมัน
ตัวโคมไฟนี้จะมีที่บังลมป้องกันแสงไฟ ติดรอกที่สายโคม และเสาโคมแขวน สำหรับชักโคมขึ้นไปลอยส่องแสงสว่างท่ามกลางความมืดบนท้องฟ้า และเมื่อระยะเวลาผ่านไป จะลดโคมให้ตกลงสู่แม่น้ำ เพื่อเป็นการขอขมา แสดงความกตัญญูต่อพระแม่คงคาและพระแม่ธรณี ที่ช่วยให้พืชผลเจริญเติบโต เป็นอาหารหล่อเลี้ยงชีวิต
2. ลดชุด คือ เครื่องจองเปรียงขนาดเล็ก ถูกย่อขนาดให้เล็กลงเพื่อจัดวางเรียงเป็นแถวตามแนวไฟ ในช่องที่เจาะไว้ตามผนังกำแพงวัง หรือตามแนวกำแพงเมือง
เรียกได้ว่า ประเพณีลอยกระทง มีต้นแบบมาจาก จองเปรียงลดชุดลอยโคม ซึ่งเป็นพิธีที่มีมาก่อนสมัยอยุธยา โดยมีการสันนิษฐานว่า อาจสืบเนื่องมาจากพระนครหลวง (นครธม) ในกัมพูชา
จองเปรียง ถูกดัดแปลงเป็นพิธีพุทธปนกับการไหว้ผีบรรพบุรุษ โดยเริ่มมีมาก่อนกรุงศรีอยุธยา และมาปรากฏเป็นหลักฐานในกฏมณเฑียรบาล การทำพิธีในทุ่งพระเมรุกลางพระนคร ณ วัดพุทไธสวรรย์ นอกกำแพงพระนคร เมื่อสมัยอยุธยาตอนต้น แต่กลับไม่พบคำอธิบายว่าชักโคมในพิธีจองเปรียงเพื่ออะไรในทางพุทธศาสนา ก่อนจะมาพบในร่องรอยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การชักโคมบูชาพระมหาเกศธาตุจุฬามณี ในหนังสือเรื่องนางพนมาศ (แต่งในสมัย ร.3)
จองเปรียง ลดโคม ของหลวง และ ของราษฎร์
พิธีชักโคม จองเปรียง ถูกจัดขึ้นพร้อมกันทั่วพระนคร โดยมีทั้งของหลวง และ ของราษฎร์
ของหลวง
กฏมณเฑียรบาลมีระบุไว้ว่า พิธีจองเปรียง ของหลวง มีตั้งระทาดอกไม้ 4 ระทา หนังใหญ่ 2 โรง บนพื้นที่ 2 แห่งด้วยกัน ได้แก่
- ท้องพระเมรุ สถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพบุรพกษัตริยาธิราช ซึ่งอยู่ด้านทิศใต้นอกกำแพงวังหลวง (ปัจจุบันคือ หน้าวิหารพระมงคลบพิตร)
- วัดพุทไธสวรรย์ เดิมเป็นที่ตั้ง เวียงเหล็ก ของพระเจ้าอู่ทอง อยู่นอกเกาะเมืองทางด้านทิศใต้
ของราษฎร์
สำหรับหลักฐานจองเปรียงของราษฎร์ พบเอกสารและภาพจิตรกรรมต่าง ๆ ดังนี้
- มีการแต่งเป็นโคลงดั้น หรือที่เรียกว่า โครงทวาทศมาส ซึ่งแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น ถึงเรื่องของการแต่งโคมไฟจากน้ำมันเนย แล้วชักโคมด้วยรอกขึ้นยอดเสา ทั้งในชุมชนบนบก และตามริมแม่น้ำลำคลองทั่วพระนคร โดยเหล่าบรรดาหญิงชาย จะร่วมเฉลิมฉลองจองเปรียง ด้วยการล่องเรือร้องรำทำเพลงร่วมกันลั่นกลางพระนคร เป็นงานรื่นเริงใหญ่ในสมัยอยุธยา
- หลักฐานจากจดหมายเหตุของทูตลังกา ที่ได้เดินทางไปยังอยุธยาในสมัยพระเจ้าบรมโกศ โดยได้กล่าวถึงการปักไม้ไผ่ขึ้นเป็นเสา และผูกเชือกชักโคมต่าง ๆ ตามวัดริมฝั่งแม่น้ำลำคลอง โดยรอบเกาะเมืองอยุธยา
- หลักฐานจากจิตรกรรมฝาผนัง สมัยรัชกาลที่ 1 ในโบสถ์วัดสุวรรณาราม (ริมคลองวัดบางกอกน้อย กทม.) ซึ่งมีภาพเกี่ยวกับพิธีจองเปรียงในสมัยรัตนโกสินทร์ ก่อนจะเลิกไปใน