คุณค่าและความสำคัญของประเพณีลอยกระทง / ที่มาของประเพณีลอยกระทง / วัตถุประสงค์ประเพณีลอยกระทง / ประเพณีลอยกระทงไม่ได้มีแค่ไทย / จุดกำเนิดกระทงใบตอง
วันลอยกระทง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ใกล้จะมาถึงอีกไม่กี่วันนี้แล้ว โดยกระทรวงมหาดไทยได้มีการรณรงค์ให้จัดกิจกรรมประเพณีวันลอยกระทง 2565 ตรงกับวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน ในรูปแบบ “สืบสานวิถีไทย ใส่ใจความปลอดภัย ห่างไกลอบายมุข” และยังมีการรณรงค์ให้สวมใส่ผ้าไทย ใต้แนวคิด “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และถึงแม้วันลอยกระทงปีนี้จะไม่ตรงกับวันหยุด แต่ก็เชื่อว่าประชาชนจะไปร่วมงานเพื่อสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีลอยกระทงของไทยกันมากอย่างแน่นอน หลังจากบ้านเราเงียบเหงางานครึกครื้นรื่นเริงแบบนี้มานาน

คุณค่าและความสำคัญของประเพณีลอยกระทง
เทศกาลลอยกระทง ภาษาอังกฤษ คือ Loy Krathong Festival ซึ่งประเพณีลอยกระทง คือ ประเพณีขอขมาธรรมชาติ หรือขอขมาพระแม่คงคา ที่สืบกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ และจะทำพิธีกันในคืนวันเพ็ญเดือน 12 หรือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 อันเป็นวันพระจันทร์เต็มดวง และยังเป็นช่วงน้ำหลาก โดยจะมีการนำดอกไม้ ธูป เทียน และอาจมีการใส่สิ่งของอื่น ๆ ลงไปในกระทงประดิษฐ์ ดอกบัว หรือ เรือแพ แล้วนำไปลอยตามลำน้ำ
ที่มาของประเพณีลอยกระทง
การลอยกระทงเป็นประเพณีที่สืบสานต่อกันมาอย่างยาวนาน แต่กลับไม่ปรากฏประวัติลอยกระทงแน่ชัดว่า จุดเริ่มต้นของการปฏิบัตินี้มีมาแต่เมื่อไร มีเพียงแต่หลักความเชื่อและจุดประสงค์ของแต่ละท้องถิ่นที่ต่างกันไป หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา เช่น ศาสนาพุทธ เชื่อว่า เป็นการบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อีกความเชื่อคือ การลอยกระทงเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทบนหาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา หรือแม่น้ำเนรพุททาของประเทศอินเดียในปัจจุบัน และบ้างก็เชื่อว่าการลอยกระทงเป็นการต้อนรับพระพุทธเจ้าในวันเสด็จกลับจากเทวโลก เมื่อครั้งไปโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

วัตถุประสงค์ประเพณีลอยกระทง
นอกจากความเชื่อต่าง ๆ แล้ว วัตถุประสงค์ในการลอยกระทงของแต่ละท้องถิ่นยังมีความหลากหลายเช่นกัน เช่น ลอยกระทงเพื่อบูชาพระอุปคุตเถระที่กำลังทรงบำเพ็ญ ณ สะดือทะเล (ท้องทะเลลึก) บางแห่งลอยกระทงเพื่อบูชาเทพเจ้า หรืออย่างในไทยบ้านเราที่ส่วนใหญ่ลอยกระทงเพื่อขอบคุณและขอขมาพระแม่คงคา รวมไปถึงการลอยกระทงเพื่อสะเดาะเคราะห์ เพราะเชื่อว่าการลอยกระทงคือการลอยทุกข์ลอยโศกโรคภัยต่าง ๆ ไปกับสายน้ำ และอธิษฐานขอพรให้พบเจอแต่สิ่งดี ๆ เข้ามาในชีวิตแทน
ประเพณีลอยกระทงไม่ได้มีแค่ไทย
ประเพณีลอยกระทงไม่ได้มีแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศอินเดีย จีน เขมร พม่า และ ลาว ก็มีการลอยกระทงเช่นกัน แต่รูปแบบและวิธีการอาจแตกต่างกันไป ตามความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งในไทยก็ยังมีความต่างกัน รวมไปถึงความเชื่อที่หลากหลายเช่นกัน อย่างในประเทศพม่าลอยกระทงเพื่อบูชาคุณพญานาค เนื่องจากมีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งสมัยพระเจ้าอโศกจะสร้างเจดีย์แต่มีพญามารมาขัดขวาง จึงขอให้พระอรหันต์องค์หนึ่งช่วย และต่อมาพญานาคแห่งเมืองบาดาลได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือ จนสามารถสร้างเจดีย์ได้เป็นผลสำเร็จ ในขณะที่ลาวเองก็มีการลอยกระทงทุกปี ด้วยวิถีชีวิตของชาวลาวเกี่ยวเนื่องกับแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำสำคัญและเป็นมักเป็นจุดกำเนิดของประเพณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับน้ำ

จุดกำเนิดกระทงใบตอง
มีการสันนิษฐานว่าการนำใบตองมาทำกระทง น่าจะมาจากตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือ นางนพมาศ สนมเอกของพระร่วงที่ได้ประดิษฐ์กระทงใบตองเป็นรูปดอกบัวโกมุท โดยดอกบัวโกมุทนี้จะมีความพิเศษ บานในเวลากลางคืนเพียงปีละครั้งเท่านั้น เหมาะที่จะนำมาทำเป็นกระทงเพื่อสักการะพระพุทธเจ้า พระร่วงรู้สึกพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก จึงมีพระราชดำรัสให้กษัตริย์สยามดำเนินพิธีกรรมนี้ โดยทำโคมลอยเป็นรูปกระทงสืบไป
อย่างไรก็ตาม ประเพณีลอยกระทงที่ประดิษฐ์กระทงด้วยใบตองนี้มีแต่ในพระราชสำนักเท่านั้นในช่วงแรก ก่อนจะขยายแผ่มายังปุถุชนชาวบ้านทั่วไป และค่อย ๆ มีการเพิ่มเติม และเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละสมัยนิยม รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีเสริมเข้ามาในภายหลัง เช่น การประดิษฐ์กระทงที่ไม่ใช่จากใบตอง การประกวดนางนพมาศ การจุดพลุและดอกไม้ไฟ หรือการตัดผม ตัดเล็บใส่ลงไปในกระทง