ด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้หลายคนอาจเกิดอาการภูมิตกจนทำให้ป่วยเป็นโรคต่างๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่ภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรง ซึ่งปัจจุบันมีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นมากมาย และหากรวมกับโรคอุบัติซ้ำแล้วนับว่าน่ากลัวทีเดียว เพราะมีโรคมากมายที่เราต้องระวัง และ 1 ในโรคที่เกิดขึ้นเป็นประจำก็คือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV แม้ว่าจะดูเผินๆ ไม่เป็นอันตราย หลายคนก็เคยเป็น แต่นี่ไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดาที่ควรประมาท เพราะอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้เลย
โรค RSV คืออะไร?
โรค RSV หรือโรค Respiratory Syncytial Virus ซึ่งเป็นโรคไวรัสชนิดหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อทางเดินหายใจของเราทั้งส่วนบนและส่วนล่าง และแม้ว่าโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่กลุ่มที่เสี่ยงที่สุดก็คือเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ด้วยความที่ภูมิคุ้มกันทางร่างกายยังพัฒนาได้ไม่เยอะ ทำให้นอกจากจะติดได้ง่ายแล้ว อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
ในประเทศไทย พบการติดเชื้อไวรัสนี้ได้บ่อยในช่วงฤดูฝน หรือต้นๆ ฤดูหนาว
อาการของโรค RSV
โรค RSV มักจะมีอาการน้ำมูกไหล ไอ และจามบ่อย รวมไปถึงมีเสมหะในลำคอมาก ซึ่งหากยังไม่รีบรักษา และปล่อยให้มีอาการต่อเนื่องจะส่งผลต่อทางเดินหายใจที่จะมีอาการอักเสบตามมา ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ ปอดบวม ปอดอักเสบได้ในท้ายที่สุด
อาการที่ต้องพึงระวังมากที่สุดก็คือการที่ไข้ขึ้นสูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส รวมกับอาการไอจนอาเจียน หายใจเหนื่อยหอบ หายใจมีเสียง (wheezing) ทานอาหารได้น้อย ปากซีด ให้ดำเนินการส่งโรงพยาบาลทันที เพราะในระยะนี้มีโอกาสที่จะเกิดภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้สูง
โรค RSV สามารถติดต่อได้ผ่านสารคัดหลั่งของร่างกาย เช่น น้ำมูก น้ำลาย ละอองจากการไอหรือจาม มีระยะการฟักตัวอยู่ที่ประมาณ 5 วัน หากใครมีบุตรหลานที่อายุยังน้อย อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงให้หลีกเลี่ยงให้บุตรหลานของท่านถูกสัมผัสจากผู้อื่น โดยเฉพาะเมื่อยังไม่ได้ทำความสะอาดมือหรือร่างกาย
แม้ว่าโรคนี้จะอยู่กับเรามาอย่างยาวนาน แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มียารักษาโรค RSV โดยตรง มีเพียงการรักษาตามอาการเท่านั้น และเราได้เตรียมวิธีปฏิบัติเบื้องต้น หากสงสัยว่าลูกน้อยของคุณกำลังติดเชื้อ RSV จากเฟซบุ๊คของคุณหมอ จิรรุจน์ ชมเชย
คำแนะนำเบื้องต้นในการดูแลบุตรหลาน หากสงสัยว่าติดเชื้อ RSV
1. พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดน้ำมูกทุกชนิด
เพราะยาจะทำให้น้ำมูกเหนียวและเสมหะเหนียว หากมีการติดเชื้อในหลอดลม เสมหะจะมีปริมาณมากและเหนียว ทำให้ไอออกยากมากขึ้น และอาจเป็นสาเหตุให้ต้องไปนอนโรงพยาบาลพ่นยาและดูดเสมหะ
2. ในเด็กเล็กที่ป่วยและมีประวัติสัมผัสผู้ป่วย RSV ชัดเจน
หากอาการหลักอยู่ที่จมูกและคอหอย เช่น น้ำมูกมาก อาการไอส่วนใหญ่ จะเป็นจากน้ำมูกไหลลงคอ หากยังไม่หายใจหอบ ควรหลีกเลี่ยงการพ่นยาละอองฝอยโดยไม่จำเป็น เพราะละอองฝอยขนาดเล็กนี้ อาจเป็นเหตุนำพาเชื้อ จากโพรงจมูกส่วนบน ลงไปยังจมูกส่วนล่าง ผ่านการพ่นยา ยิ่งถ้าเด็กไม่ให้ความร่วมมือในการพ่น ร้องหรือสำลักระหว่างพ่นยา ก็ยิ่งมีโอกาสพาเชื้อลงสู่ทางเดินหายใจส่วนล่าง เว้นแต่มีอาการของหลอดลมหดเกร็ง หายใจมีเสียงวี้ด จากการตรวจร่างกาย อันนี้ก็อาจจำเป็นจะต้องใช้ยาพ่นละอองฝอย ซึ่งขอให้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ ผู้ดูแล ณ จุดนั้น สิ่งสำคัญนั่นคือ ควรเน้นเรื่องการเคลียร์น้ำมูกในโพรงจมูก
3. ในช่วงที่มีการติดเชื้อ อย่าให้ขาดน้ำเป็นเด็ดขาด
พยายามดื่มน้ำหรือจิบน้ำให้บ่อยๆ เพราะภาวะขาดน้ำ จะยิ่งทำให้เสมหะแห้งและเหนียว ทำให้การไอเอาเสมหะออกมาทำได้ยาก อาจเป็นเหตุให้เด็กต้องไปรับการรักษาในโรงพยาบาล
4. จัดการกับภาวะไข้สูงอย่างรวดเร็ว
ส่วนใหญ่ของเด็กที่ติดเชื้อ RSV จุดเริ่มต้นมักมีอาการไข้สูง ซึ่งไข้ที่สูงจะเป็นเหตุให้มีกระบวนการเมตาบอลิซึมที่สูงขึ้น มีการเพิ่มขึ้นของ คาร์บอนไดออกไซด์ หากการหายใจได้ไม่ดี อันเนื่องมาจากทางเดินหายใจ อักเสบบวมเสมหะมากจากการติดเชื้อ การระบายก๊าซดังกล่าวจะทำได้แย่ลง และอาจทำให้อาการเด็กทรุดหนัก การลดไข้จึงเป็นสิ่งสำคัญ และควรรีบทำโดยเร็ว วิธีการก็คือพื้นฐานเลยครับ การเช็ดตัว การใช้ยาลดไข้ พาราเซตามอล ในขณะที่เหมาะสม จะสามารถบรรเทาอาการไข้ ช่วยลดความรุนแรงของตัวโรคลงได้
สำหรับ 4 ข้อนี้ เป็นหลักการพื้นฐานในการดูแลที่แนะนำผู้ป่วยและใช้มาตลอด ในระยะเวลานับ 10 ปี หากทำได้ทุกอย่างแล้วไม่ดีขึ้น มีอาการหายใจหอบมากขึ้น หายใจอกบุ๋ม กินได้น้อย ไม่ยอมกินโดยเฉพาะน้ำและนม แนะนำว่าควรไปพบแพทย์โดยด่วน